วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ถึงครูจิ๋ว



ว่ากันว่าเหตุผลที่คนเราจะทำงานอยู่ที่ใดที่หนึ่งนาน ๆ มีอยู่ไม่กี่ข้อ เช่น รักงานที่ทำอย่างยิ่ง หรือไม่ก็มี 'บอส' หรือผู้บังคับบัญชาที่เปี่ยมความสามารถน่าเคารพนับถือ ชวนให้เชื่อว่า "ถ้าเราได้ทำงานกับเค้า เราจะต้องเก่งขึ้นแน่ ๆ เลย" สำหรับผมในช่วงนี้ เหตุผลหลัก ๆ น่าจะเป็นข้อหลังนี่เอง

สมัยเป็นนักศึกษา ผมไม่เคยรู้จักผู้ช่วยศาสตราจารย์ดุษฎีพร ชำนิโรคศานต์ ทั้งจากการเรียนในห้องเรียนหรือการอ่านตำรา เพราะตำราที่ครูเขียนเน้นหนักไปทางสายภาษาซึ่งเป็นคนละสายกับที่ผมเรียนมา ผมจึงไม่เคยรู้ว่าความเป็น 'มาสเตอร์' ทางภาษาของครูนั้นอยู่ขั้นไหน

กระทั่งความประทับใจแรกเกิดขึ้นในช่วงแรกของการทำงาน จะด้วยความที่พ่วงยี่ห้อว่า 'เคย' เป็นนักเขียนหรืออย่างไรไม่ทราบ ผมได้รับมอบหมายให้ร่างคำนำหนังสือรวมเล่มผลงานนิสิตในค่ายภาษาไทยของสถาบันฯ จำได้ว่าตอนนั้นตั้งใจเขียนสุด ๆ ทำนองว่างานชิ้นแรกต้องให้บอสประทับใจหน่อย (แฮ่ม!) แต่สุดท้ายผลกลับออกมาว่าคำนำชิ้นนั้นเป็นงานที่ถูกตรวจแก้ยับเยินที่สุดงานหนึ่งนับตั้งแต่เคยเขียนหนังสือมา (ฮา)

เหตุการณ์ในวันนั้นให้บทเรียนแก่ผมสองเรื่อง เรื่องแรกคือ ประสบการณ์ (หัด) เขียนหนังสือเกือบสิบปีแทบไม่มีความหมายเมื่ออยู่ต่อหน้าครูผู้เป็นนายของภาษาอย่างแท้จริง และเรื่องที่สองคือ ภาษาไทยเป็นภาษาที่โคตรจะมีเหตุผล ทุกคำ ทุกวลี ทุกคำเชื่อม ล้วนแต่มีหน้าที่และเหตุผลในการมาเกาะเกี่ยวกันกลายเป็นแต่ละประโยค บทเรียนข้อหลังเป็นสิ่งที่ผมพยายามจะเน้นย้ำเสมอเมื่อตรวจงานนิสิตหรือตรวจแก้ไขงานของตัวเองก่อนจะส่งให้ครูตรวจทาน (ซึ่งสุดท้ายก็จะถูกตรวจแก้ยับเยินเสมอ ๆ -ฮา)

วันภาษาไทยแห่งชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมา ครูดุษฎีพรได้รับการยกย่องให้เป็น "ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย" และพลอยให้สถาบันฯ ได้รับเกียรติเป็น "องค์กรที่มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย" ไปด้วย ผมในฐานะผู้มีฉันทาคติอันเกิดจากการได้อยู่ใต้บังคับบัญชาของครูมาเกือบสองปีเห็นว่าไม่มีรางวัลใดที่จะเหมาะสมกับครูมากไปกว่านี้แล้ว ขอร่วมแสดงความยินดีกับครูนะครับ และหวังว่าจะได้อยู่ใต้บังคับบัญชาครูไปนาน ๆ เพื่อที่จะได้ 'ลักจำ' วิชาจากครูให้มากที่สุดครับ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น