วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ขอเป็นโหรซีไรต์บ้าง Vol.1

สืบเนื่องจากวันก่อน ทะนาคาน มิตรสหายร่วมวงการน้ำหมึก ได้มาชักชวนให้ข้าพเจ้าสวมวิญญาณโหรซีไรต์ทายว่าปีนี้หวยจะออกที่เล่มไหน ข้าพเจ้าได้แต่บอกปัดเพราะไม่เคยทายถูกเลยแม้แต่ปีเดียว หากข้าพเจ้าเป็นโหร ก็นับเป็นโหรตาถั่วใช่ตาทิพย์พอ ๆ กับเปเล่ ไม่สมควรทำนายทายทักอะไรอีก เพราะความซวยจะตกอยู่ที่เล่มที่ข้าพเจ้าเก็ง อีกประการหนึ่ง เล่มที่เดาว่าจะเข้าเจ็ดเล่มก็หลุดไปหมดแล้ว เว้นแต่ นิมิตต์วิกาล ของ อ.ต้น ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเกิดความห่อเหี่ยวอย่างมากในการที่จะเดาเจ็ดเล่มนี้

อย่างไรก็ตาม วันก่อนข้าพเจ้าโดนกระทุ้งมาจากรุ่นน้องคนหนึ่งอีกทีว่าให้ลองทายดู เนื่องจากเสียงกระทุ้งนั้นเป็นเสียงหวาน ๆ ซึ่งชวนให้หัวใจครึกครื้น ไม่ใช่เสียงของนักเขียนหนุ่มอย่างทะนาคานซึ่งชวนให้ห่อเหี่ยวใจ (ฮาฮา) จึงคิดว่า เอาน่า ทายเล่น ๆ ละกัน แต่การทายครั้งนี้ก็มีอุปสรรคอยู่ เพราะข้าพเจ้าเพิ่งได้อ่านไปแค่ ๒ ใน ๗ เล่ม บวกกับบางเรื่องของจเด็จและพิเชษฐศักดิ์ที่ได้ลงในช่อการะเกด จึงกล่าวถึงในตอนนี้ได้แค่ ๒ เล่มเท่านั้น

-------------------------------------------

๑. นิมิตต์วิกาล / อนุสรณ์ ติปยานนท์

ว่ากันตามจริง ผมชอบ "เคหวัตถุ" ผลงานเล่มก่อนหน้าของ อ.ต้นมากกว่า (แล้วก็เชียร์ให้ได้ในปีนั้น สุดท้ายก็ปิ๋ว) เพราะเล่มนั้นมีเรื่องเล่าทรงพลังระดับทัดเทียมกันทั้งเล่ม และเกาะเกี่ยวธีมเล่มอย่างเป็นเอกภาพมากกว่า ขณะที่เรื่องราวใน "นิมิตต์วิกาล" ดูเหมือนจะไม่ได้ตั้งใจมารวมกันให้ธีมของเล่มเป็นเอกภาพ (หรือผมเข้าไม่ถึงเองก็ขออภัย)

นิมิตต์วิกาล เล่าถึงเรื่องราวความเว้าแหว่งของมนุษย์ การค้นหาความหมายของบางสิ่งซึ่งไม่มีอยู่จริง เรื่องราวร่วมสมัยเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยการเล่าเรื่องที่ไม่อาจนิยามได้ เช่นเดียวกับเรื่อง นิมิตต์วิกาล เรื่องสั้นชื่อเดียวกับเล่มที่พูดถึงเส้นแบ่งเขตแดนที่ไม่มีอยู่จริงไม่ว่าจะเป็นดินแดนของสองประเทศ ดินแดนความจริง-ลวง ดินแดนความเป็น-ตาย ความสว่าง-มืด ความดี-เลว และคู่ตรงข้ามทั้งหลายในโลกที่ไม่มีพรมแดนอยู่จริง โดยนัยนี้ เรื่องเล่าทั้งหมดในนิมิตต์วิกาลจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีเส้นแบ่งระหว่าง นิยาย/เรื่องสั้น/บทกวี/สารคดี/เรื่องจริง/เรื่องแต่ง/ความจริง/ความลวง จนคล้ายกับการถอยกลับไปสู่ "การเล่าเรื่อง" แบบโบราณกาลในยุคที่มนุษย์ยังไม่มีชื่อเรียกสิ่งต่าง ๆ ผ่านปากคำของคนร่วมสมัย ซึ่งเป็นความสำเร็จที่น่าชมเชยของนักเขียนไทยที่น้อยคนนักจะทำได้ขนาดนี้

สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับเล่มนี้คือ ขณะที่ "น้ำตากวาง" "นิมิตต์วิกาล" และ "มรณสักขี" เป็นเรื่องเล่าที่ทรงพลังเอามาก ๆ ส่วน "เงาแห่งฝน" และ "ปัตตาเวีย" แม้จะทรงพลังน้อยกว่า แต่ก็อยู่ในระดับไล่เลี่ยกัน เรื่องที่ข้าพเจ้าคิดว่าหลุดระดับลงมาคือ "สัตว์ประหลาด" ซึ่งทำให้พลังของเล่มตกไปอย่างน่าเสียดาย ส่วน "รักแรก" และ "เรือรักที่จมลงในถ้วยกาแฟ" ดูเหมือนจะเป็นอารมณ์ที่ต่างจากเรื่องอื่นในเล่ม ชวนให้นึกถึงการตามหาบางสิ่งที่สูญหายแบบมูราคามิมากกว่า

หากจะพูดถึงการได้ซีไรต์ เล่มนี้น่าจะเป็นการ "วัดดวง" ทำนองเดียวกับ "ทะเลน้ำนม" นวนิยายของชัชวาลย์ โคตรสงคราม ที่ข้าพเจ้าเชียร์เมื่อปีก่อนหน้า เนื่องจากลักษณะทั้งหมดของเล่มค่อนข้างจะหลุดออกไปจากกรอบที่เรา ๆ คุ้นเคย อย่างไรก็ดี ด้วยความที่คนเขียนหน้าตาดี (ไม่เกี่ยว ฮาฮา) และเป็นหนึ่งในเล่มที่ข้าพเจ้าเชียร์มาแต่แรก ก็คิดว่าคงจะเชียร์กันต่อไปจนกว่าผลจะออกมา

S.E.A. Write Rate 70%

---------------

๒. กระดูกของความลวง / เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์

ขณะที่นักเขียนท่านอื่นมาพร้อมกับชุดความคิดอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในเนื้อเรื่องและกลวิธีการเล่าอันซับซ้อน เรวัตร์กลับเขียนเรื่องสั้นชุดนี้เพื่อให้ "รู้สึก" มากกว่า "เข้าใจ" แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยากนักสำหรับผู้เขียนซึ่งเป็นกวี ผู้รู้อำนาจของเสียงและถ้อยคำที่จะสั่นสะเทือนความรู้สึกของผู้อ่าน อย่าไปสนเลยว่ามันเป็นแมจิคอลหรืออะไร เพราะจุดเด่นของเล่มนี้คือเรวัตร์หยิบเอาเสียงและถ้อยคำมาวางไว้ในจุดที่เหมาะสมของฉันทลักษณ์ในแบบ "เรื่องสั้น" จึงไม่แปลกที่เมื่ออ่านจบ สิ่งแรกที่ผุดวาบมาในความคิดไม่ใช่ความเข้าใจหรือชุดความคิดในเรื่อง แต่เป็นก้อนความรู้สึกที่สั่นสะเทือนให้หัวใจไหวหวั่น

สิบสองเรื่องที่บรรณาธิการกล่าวว่าอิงอ้อมอยู่กับปีนักษัตรอย่างหลวม ๆ แท้จริงแล้วมันก็คือวงจรชีวิตไม่รู้จบของมนุษย์อย่างที่ผู้เขียนโปรยไว้ว่าเป็น "เรื่องสั้นไม่รู้สิ้น" ไม่มีความคิดอะไรใหม่ในสิบสองเรื่องนี้ มีก็แต่เพียงการคว้านควักเข้าไปในความรู้สึกของผู้อ่านอย่างถึงแก่น และตระหนักว่าชีวิตก็ไม่ต่างอะไรกับตัวอักษรที่จัดวางอยู่บนหน้ากระดาษ เพราะมันคือการประกอบสร้างกันโดยไร้แก่นสารเท่านั้น

หากอัศศิริ ธรรมโชติ "เขียนเรื่องสั้นโดยใช้ภาษากวี" รวมเรื่องสั้นชุดนี้ก็คงเป็นการทดลอง "เขียนบทกวีในรูปแบบเรื่องสั้น" ที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ (มากกว่าอีกเรื่องสั้นชุดหนึ่งของผู้เขียนอีกคนซึ่งกล่าวอ้างวิธีการนี้ แต่ทำได้ไม่ถึง) ซึ่งเป็นอีกวิธีการเล่าเรื่องหนึ่งที่น่าจับตามอง

หากเล่มนี้จะได้ซีไรต์ก็ถือว่าไม่น่าเกลียด เพราะมีความบริบูรณ์ทั้งเนื้อหา ภาษา ธีมเล่ม ชื่อชั้นคนเขียน อย่างน้อยที่สุดเวลาเขียนคำประกาศก็คงจะเขียนได้ง่ายและครบถ้วนกว่าเล่มอื่น ๆ

S.E.A. Write Rate 80%

----------------------------------------------

*อนึ่ง S.E.A. Write Rate เป็นการให้เรตว่าเล่มนี้มีเปอร์เซ็นต์น่าจะได้แค่ไหนจากการคาดเดาความคิดของกรรมการรอบสุดท้าย จากความสมบูรณ์ของเล่ม ความหนักแน่นของธีม ความเข้ากันระหว่างเนื้อหากับกลวิธีที่ใช้ ฯลฯ ไม่เกี่ยวกับความชอบส่วนตัวแต่อย่างใด เช่น นิมิตต์วิกาลอาจจะได้ซีไรต์เรตน้อยกว่ากระดูกของความลวง แต่กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ผมก็ยังชอบนิมิตต์วิกาลมากกว่า เป็นต้น

ถ้าได้อ่านเพิ่มเติมก่อนประกาศผล อาจจะมาเขียนต่อ Vol.2 นะคร้าบ


วุฒินันท์ ชัยศรี
๓ สิงหาคม ๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น