วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ขอเป็นโหรซีไรต์บ้าง Vol.2

*หมายเหตุก่อนอ่าน

สามเล่มนี้ ผมใช้วิธีการอ่านแบบนักอ่านยากจน คือไปยืนอ่านในร้านหนังสือจนจบเล่ม ดังนั้นจึงอาจเข้าใจเรื่องทั้งหมดในเล่มแบบยังไม่ผ่านการตกตะกอนเหมือนสองเล่มก่อนหน้านี้ที่มีเวลานั่งอ่านอย่างพินิจพิจารณามากกว่า หากพูดถึงแค่ภาพรวมกว้าง ๆ หรือยกบางเรื่องมาอ้างโดยชื่อเรื่องผิด ต้องขออภัยล่วงหน้ามา ณ ที่นี้

----------------------------------------------

๓. ๒๔ เรื่องสั้นของฟ้า / ฟ้า พูลวรลักษณ์

หลังจากซีไรต์ครั้งที่แล้ว ฟ้าทำให้ผมเข็ดขี้อ่อนขี้แก่ไปกับ "โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก" เมื่อต้องรีดเค้นประเด็นและแนวคิดของนวนิยายออกมาเป็นรายงานวิชาการ ซึ่งกินความตั้งแต่ความหมายของการหายใจเข้าออกไปจนถึงทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ การพบกันครั้งใหม่นี้ผมจึงต้องทำใจอยู่สักพักก่อนจะเปิดหนังสืออ่าน

แต่ก็นั่นแหละ, ฟ้ายังคงเป็นฟ้า เขายังกลับมาพร้อมกับการค้นหาความหมายบางอย่าง หรือหลายอย่างในชีวิตผ่านเรื่องสั้นทั้ง ๒๔ เรื่อง (ไม่รู้ว่าคราวนี้เขารวมเล่มประชดรางวัลซีไรต์หรือเปล่า หลังจากครั้งหนึ่ง "๗ เรื่องสั้นของฟ้า" ตกรอบซีไรต์ด้วยเหตุผลว่า มีเรื่องสั้นไม่ถึง ๘ เรื่อง อันเป็นกติกาพื้นฐาน คราวนี้เลยกลับมาด้วยจำนวนเรื่องเป็น ๓ เท่าของขั้นต่ำ)

หากมองในแง่รางวัล ในเล่มนี้ยังมีเรื่องสั้นหลายเรื่องที่ดูเหมือนว่าความคิดยังไม่ตกผลึกดี (หรือผมยังเข้าไม่ถึงเองก็ไม่ทราบได้) เมื่อมันอยู่ในเล่มจึงทำให้พลังของเล่มดรอปลงพอสมควร จึงอาจทำให้ชวดรางวัลได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องสั้นกว่า ๘๐% ของเล่มก็นับว่ามีประเด็นเกี่ยวแก่การค้นหาความหมายของชีวิตที่น่าสนใจไม่น้อย และดูเหมือนจะตกผลึกมาจากผลงานก่อนหน้าอย่าง ๗ เรื่องสั้นของฟ้า และโรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก หากฟ้าไม่ต้องการกล่อง ก็ถือว่ารวมเรื่องสั้นชุดนี้ยังคงความเป็นฟ้าได้อย่างเต็มเปี่ยม ในฐานะนักเขียนเรื่องความคิดและปรัชญาอันแหลมคมให้ผู้คนครุ่นคำนึงตามไม่รู้จบ อันเป็นลักษณะที่ไม่ค่อยพบเห็นสำหรับนักเขียนไทย

ฟ้า พูลวรลักษณ์ เป็นนักเขียนอีกคนที่ผมยังคงเชียร์อยู่ ในฐานะที่เป็นมือแคนโต้ระดับพระกาฬที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมได้เสมอ และผมยังเคยให้ซีไรต์เรตแก่ "โรงเรียนที่เงียบที่สุดในโลก" สูงถึง 90% แต่สำหรับปีนี้ความโดดเด่นของฟ้าอาจจะน้อยลงไปบ้าง เพราะหลายเล่มที่เข้ารอบก็แปลก ๆ ทั้งนั้น

S.E.A. Write Rate 80%

----------------------------------------------

๔. ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำตลอดชีวิต / จักรพันธุ์ กังวาฬ

หากถอดถอนกฎที่ว่า จะต้องมีเรื่องสั้นไม่ต่ำกว่า ๘ เรื่องในเล่มออกไป ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำตลอดชีวิต อาจมีพลังมากกว่านี้ เพราะเรื่องสั้นที่เขียนขึ้นใหม่ที่ระบุว่า ตีพิมพ์ครั้งแรกในเล่ม มักจะเป็นเรื่องสั้นที่ผมไม่ค่อยชอบนัก อาจเป็นเพราะเมื่อนำไปเทียบกับเรื่องสั้นที่ผ่านการตีพิมพ์จากนิตยสารอื่นจะเห็นพลังที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่นเรื่อง "สารคดีที่ผู้เขียนไม่รู้ตอนจบ" เป็นเรื่องเล่าที่ทรงพลัง แต่เมื่ออยู่คู่กับ "เรื่องสั้นที่ผู้เขียนไม่รู้ตอนจบ" เรื่องหลังกลับดึงอีกเรื่องที่อยู่คู่กันให้เสียหลักไปดื้อ ๆ เหมือนว่าผู้เขียนเขียนเรื่องใหม่ขึ้นมารวมเพื่อให้ครบ ๘ เรื่องเท่านั้น ผมคิดว่ามีสัก ๕-๖ เรื่องในเล่มก็น่าจะ "อิ่ม" มากพอแล้วสำหรับการเล่นกับระยะห่างของการเล่าเรื่อง หากมีมากไปโดยคุมไม่อยู่ จะเกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อไปเปล่า ๆ

การทดลองวิธีการเล่าเรื่องหลากหลายรูปแบบ บางครั้งอาจเป็นเรื่องน่าติดตาม แต่หากติดกับดักในกลวิธีการเล่าเรื่องมากไปก็จะกลายเป็นเรื่องสั้นที่ไม่มีอะไรเลยแม้แต่ภาพลวงของการเล่าเรื่อง (หากเรายังคงเชื่ออยู่ว่าเรื่องสั้นคือการเล่าอะไรบางอย่าง)

หากมองแค่บางเรื่อง ถือว่าผู้เขียนก้าวหน้าขึ้นมามากในฐานะนักเขียนเรื่องสั้น มีหลายเรื่องที่ถือว่า "แน่น" จริง ๆ แต่โดยภาพรวม ผมยังชอบ "นักเดินทางสู่ห้องเก็บของใต้บันได" รวมเรื่องสั้นชุดก่อนหน้าของเขามากกว่า หากท่วงทำนองเสียดเย้ยจากเล่มก่อนหน้ามาผสานกับวิธีการเล่าเรื่องที่ลงตัวในบางเรื่องของเล่มนี้ ไม่แน่ว่าอาจมีปรากฏการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นในวงการเรื่องสั้นไทยก็เป็นได้

S.E.A. Write Rate 60%

----------------------------------------------

๕. เรื่องของเรื่อง / พิเชษฐศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์


ผู้เขียนเคยมีชื่อในการเขียนบทกวีมาก่อน และผมเคยเห็นเรื่องสั้นหลายเรื่องผ่านตาในเวที "ช่อการะเกด" จัดเป็นนักเขียนที่น่าจับตามองคนหนึ่ง แต่พูดกันตรง ๆ ผมเห็นเหมือนที่รุ่นน้องคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตไว้ คือเล่มนี้ดูเหมือนจะธรรมดามากกว่าเล่มอื่น ๆ ที่เข้ารอบเจ็ดเล่มสุดท้าย ในยุคที่เรื่องสั้นแข่งกันหวือหวาด้านกลวิธีการเล่าเรื่อง "เรื่องของเรื่อง" กลับมาพร้อมกับกลวิธีแบบธรรมดา ๆ หรือถ้าจะมีหวือหวาก็เพียงเล็กน้อย

แต่ก็นั่นแหละ บางเรื่องซึ่งผมเห็นว่าธรรมด๊าธรรมดา อย่างเช่นเรื่อง "มันอยู่ในนั้น" ที่ลงตีพิมพ์ในช่อการะเกด ฉบับที่ 54 ก็กลับเป็นเรื่องที่ได้รับการประดับช่อการะเกดจากสุชาติ สวัสดิ์ศรี ดังนั้นไม่แน่ว่า เรื่องธรรมดาเรียบง่ายในสายตาผมและรุ่นน้อง อาจมีอะไรลึกล้ำซ่อนอยู่ที่คนอ่านระดับธรรมดาอย่างเรา ๆ ยังเข้าไม่ถึงก็เป็นได้

(แม้ผมจะให้ซีไรต์เรตไว้น้อย แต่ก็นั่นแหละ, "ความสุขของกะทิ" ก็ได้เรตเท่านี้เหมือนกัน สุดท้ายกลับกลายเป็นวรรณกรรมซีไรต์ที่ขายดีที่สุดจนถึงปัจจุบัน)

S.E.A. Write Rate 40%

----------------------------------------------
*อนึ่ง S.E.A. Write Rate เป็นการให้เรตว่าเล่มนี้มีเปอร์เซ็นต์น่าจะได้แค่ไหนจากการคาดเดาความคิดของกรรมการรอบสุดท้าย จากความสมบูรณ์ของเล่ม ความหนักแน่นของธีม ความเข้ากันระหว่างเนื้อหากับกลวิธีที่ใช้ ฯลฯ ไม่เกี่ยวกับความชอบส่วนตัวแต่อย่างใด


วุฒินันท์ ชัยศรี
๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น