วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องราวของคนเก็บขยะอ่านหนังสือพิมพ์มติชน ป้าเสื้อเหลืองขายหนังสือเสื้อแดง และนักเรียนมัธยมฯ ตัดสินใจทำบัตรเดบิต

(๑)

ก็นั่นแหละ, ป้ายรถเมล์ธรรมดา ๆ อุดมไปด้วยคนธรรมดา ๆ ที่ไม่มีเงินถุงเงินถังมากพอจะซื้อรถยนต์ ไม่มากพอจะขึ้นรถแท็กซี่ จึงต้องมายืนออเพื่อรอรถเมล์สายที่จะพาพวกเขาไปติดแหง็กบนท้องถนนเพิ่มความเครียดให้แก่ชีวิต

ชายคนนั้นก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง แม้ว่าการแต่งตัวจะซอมซ่อไปนิด (หรือไม่นิดในสายตาของหลายคน) แต่ก็พอเหมาะพอควรกับอาชีพที่เขาทำ-คนเก็บขยะ, ข้าพเจ้าเดาจากพาหนะคู่กายของเขา-สามล้อเก่าคร่ำคร่า ด้านข้างห้อยตะกร้าใบใหญ่เก่าพอกัน ในตะกร้านั้นเต็มไปด้วยขยะจำพวกขวดน้ำ เศษเหล็ก กระดาษ ฯลฯ

ภาพนี้คงจะผ่านตาข้าพเจ้าไปแบบไม่หวนกลับเข้ามาในความทรงจำ หากชายคนนั้นไม่ได้หยิบหนังสือพิมพ์ใหม่เอี่ยมออกมาจากกระเป๋า และนั่งลงอ่านมันอย่างตั้งใจตรงป้ายรถเมล์

หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นคือหนังสือพิมพ์มติชน

คนเก็บขยะอ่านหนังสือพิมพ์ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรมหรือน่าอุจาดตา จึงไม่มีใครสนใจ แต่สำหรับข้าพเจ้า, ผู้ถูกมายาคติหลายอย่างครอบงำในสมอง ได้แต่เก็บเอาภาพนั้นมาใคร่ครวญ

มายาคติประการแรก, ภารกิจของคนเก็บขยะคือเก็บขยะ มิพักจะพูดถึงการนั่งละเลียดจิบกาแฟอ่านหนังสือพิมพ์แกล้มอาหารเช้าอย่างที่คนรวยหรือนักธุรกิจในละครหลังข่าวชอบทำ (แล้วก็มักจะพบข่าวแย่งผัวเมียในหนังสือพิมพ์ธุรกิจ-ฮา) คนเก็บขยะกับการอ่านหนังสือพิมพ์ หรือการอ่านอะไรสักอย่างหนึ่งน่าจะเป็นภาพที่ไปด้วยกันไม่ค่อยได้ ถ้าข้าพเจ้าหยิบเอาฉากนี้ไปเขียนเป็นเรื่องสั้น ก็คงมิวายถูกติติงมาว่า "ไม่สมจริง"

มายาคติประการที่สอง, ข้าพเจ้าเคยคิดว่า หนังสือพิมพ์มติชนเนื้อหาค่อนข้างหนักในเรื่องการเมือง ไม่ค่อยจะมีเรื่องประกาศผลหวย ข่าวชาวบ้านขูดหาเลขตามต้นไม้ ฯลฯ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ หนังสือพิมพ์มติชนอาจไม่ใช่หนังสือพิมพ์ที่เขาเรียกกันว่า "หัวสี" ที่เน้นข่าวเอาใจชาวบ้านและแฟนละครหลังข่าว เช่นไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด ฯลฯ แม้มันจะผ่านแท่นพิมพ์เดียวกันมาก็ตาม หนังสือพิมพ์มติชนจึงเหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่งที่เรียกว่า "ปัญญาชน" มากกว่า

แต่มายาคติก็คือมายาคติ, มายาคติไม่ใช่ความจริง เมื่อภาพตรงหน้าที่ปรากฏไม่ตรงกับมายาคติที่ฝังอยู่ในความคิดของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงได้แต่ฉงนสนเท่ห์อยู่เช่นนั้น พยายามพิจารณารายละเอียด, หนังสือพิมพ์ใหม่เอี่ยมเกินกว่าที่เขาจะเก็บมาจากกองขยะ หรือเขาจะลงทุนซื้อมาอ่าน, รายได้จากการเก็บขยะขายมีมากเทียวหรือ เขาจึงมีเงินพอมาซื้อหนังสือพิมพ์ของ "ปัญญาชน" ทั้งที่ราคาก็แพงกว่า หรือนี่คือการลงทุนให้เกิดผลงอกเงยทางปัญญา, แวบหนึ่งข้าพเจ้านึกถึงวินมอเตอร์ไซค์กางหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์เล่มหนึ่งพลางถกเถียงกันอย่างเมามัน, และอีกแวบหนึ่ง ภาพของคนขายโปสเตอร์หน้ารามฯ กำลังนั่งอ่านเรื่องสั้นของมาร์เกซ ฉบับแปลของสำนักพิมพ์สามัญชนเล่มล่าสุดก็ลอยเข้ามาในความคิด

รถเมล์มาแล้ว, หมดเวลาคิด, วันนี้ข้าพเจ้ามีหลายเรื่องที่สำคัญกว่านี้ต้องสะสาง

(๒)

ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าป้าเป็นเสื้อเหลืองหรือเปล่า เพียงแต่อนุมานเอาจากที่ข้าพเจ้าเห็นช่อง ASTV เปิดอยู่ทุกครั้งที่เดินเข้าร้าน

ร้านหนังสือของป้าส่วนใหญ่จะมีแต่หนังสือที่ขายคล่องจำพวกนิตยสารหรือหนังสือการ์ตูน รวมถึงหนังสือวาบหวิวปลุกใจเสือป่าและเสือไบ (ซึ่งหลัง ๆ มักจะวางเด่นกว่าหนังสือปลุกใจเสือป่า)  น้องคนขายน่าจะจำข้าพเจ้าได้ เพราะข้าพเจ้ามักจะมาพลิกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์แทบทุกสัปดาห์-แล้วก็ไม่ซื้อ... (หรือนาน ๆ ก็ซื้อสักทีนึง)

ความน่ารักน่าชังของร้านนี้น่าจะอยู่ที่มีหนังสือสองสีวางอยู่บนแผงเดียวกัน- อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเพราะร้านหนังสือหลายร้านก็เป็นเช่นนี้ แต่มันมาน่าแปลกเมื่อมาคิดรวมกันกับเจ้าของร้านผู้นิยมเปิด ASTV ชวนให้คิดว่าป้าเป็นเสื้อเหลืองระดับใด

แล้วก็เช่นทุกเย็นวันศุกร์, หลังจากฝ่ามรสุมรถติดวินาศสันตะโรมาแล้ว ข้าพเจ้าก็โผล่หัวมาที่ร้านนี้ หยิบเนชั่นสุดสัปดาห์ขึ้นมา เปิดสารบัญ แล้วก็วางลงที่เดิม เดินเข้าไปในร้าน ดูการ์ตูนเรื่องใหม่ ๆ ที่ออกมา ระหว่างที่เดินตรวจตราการ์ตูน ก็ได้ยินเสียงป้าและหนุ่มคนหนึ่งกำลังถกเถียงอย่างออกรส

ข้าพเจ้าอนุมานเอาเองว่าเขาคงเป็นหนุ่มเสื้อแดง จากการที่หนุ่มคนนั้นถือหนังสือ Red Power ในมือ เอาล่ะสิ, ป้าเสื้อเหลือง ศิษย์เฮียลิ้ม ปะทะ หนุ่มเสื้อแดง ศิษย์น้องตู่ ศึกเดือดเลือดสาดเริ่มขึ้นแล้วตรงหน้าข้าพเจ้า!

แต่แล้วก็ไม่มีการนองเลือดแต่อย่างใด, ออกจะคุยถูกคอด้วยซ้ำ ข้าพเจ้าประเมินเอาจากน้ำเสียงของทั้งคู่ หัวข้อสนทนาในขณะนั้นคือเรื่องคนไทย ๗ คนที่ถูกกัมพูชาจับไป ก่อนจะนำมาสู่บทสรุปที่ว่า รัฐบาลหนุ่มอ๊อกซ์ฟอร์ดนั้นสำมะหาอันใดมิได้

ข้าพเจ้าหัวเราะเบา ๆ หยิบการ์ตูน จ่ายเงิน เดินออกจากร้าน ไม่รู้ว่าน้องคนขายจะสังเกตเห็นรอยยิ้มของข้าพเจ้าหรือเปล่า

(๓)

เธอตั้งใจอ่านมันราวกับเป็นหัวข้อที่จะออกในข้อสอบวันพรุ่งนี้

เด็กสาวในชุดมัธยมปลาย, (ไม่รู้ว่าเธอทำอะไรอยู่ถึงได้กลับดึกนัก), นั่งอยู่ข้างข้าพเจ้า มือเรียวเล็กถือแผ่นพับประชาสัมพันธ์ของธนาคารชื่อดังแห่งหนึ่ง เป็นแผ่นพับเชิญชวนให้ทำบัตรเดบิตเป็นของตนเอง

มันก็ไม่น่าจะใช่เรื่องผิดแปลกอะไรสำหรับเด็กสาวที่ต้องการความสะดวกสบายทางธุรกรรมในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีและความรวดเร็ว อีกประการหนึ่ง บัตรเดบิตไม่ใช่บัตรเครดิต ไม่ได้ไปกู้หนี้ยืมสินของธนาคารมาจ่าย มีเงินในบัญชีเท่าไหร่ก็ใช้ได้แค่นั้น เธอคงไม่ถึงขนาดติดหนี้หัวโต หาเงินไปชดใช้ธนาคารไม่ได้จนต้องกระโดดตึกฆ่าตัวตายอะไรเทือกนั้น

แน่นอน, บัตรเดบิตยังยั่วยวนใจด้วยสิทธิพิเศษมากมาย เช่น ส่วนลดตั๋วภาพยนตร์ ส่วนลดร้านอาหารที่ร่วมรายการ ส่วนลดโยนโบวล์ และส่วนลดในกิจกรรมนันทนาการอื่น ๆ ที่วัยรุ่นไม่อยากตกเทรนด์พึงประสงค์

ก็นั่นแหละ, เธอตั้งใจอ่านมันราวกับเป็นหัวข้อที่จะออกในข้อสอบวันพรุ่งนี้

(๔)

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นเรื่องระดับมหภาค คงจะใช้ทฤษฎี "ก้อนกรวดก้อนเดียวอธิบายจักรวาล" ไม่ได้

เพราะก้อนกรวดนั้นอาจแค่กระเด็นกระดอนเข้ามาในสายตาเราด้วยความ "บังเอิญ"

คนเก็บขยะอาจจะอ่าน นสพ. มติชน เพราะเพิ่งเก็บได้ข้างทาง, เพราะบังเอิญมีคนทำหล่นไว้ เลยมาเปิดดูเผื่อมีเลขเด็ด ก็เป็นได้ ป้าเสื้อเหลืองอาจจะไม่ใช่เสื้อเหลือง ผมก็แค่บังเอิญเดินเข้าไปในร้านตอนที่แกกำลังเปิด ASTV ก็เป็นได้, แกอาจจะคุยกับหนุ่มเสื้อแดงให้ถูกคอ เพื่อหนุ่มเสื้อแดงจะได้มาอุดหนุนหนังสือร้านแกบ่อย ๆ ก็เป็นได้ น้องมัธยมฯ อาจจะตั้งใจอ่านแผ่นพับ เพราะในมือไม่มีอะไรอ่าน หรืออาจจะอ่านไปงั้น ๆ ตามประสาคนชอบอ่าน ก็เป็นได้

แต่ก้อนกรวดหลายก้อนที่กระเด็นมาเข้าตา ก็ชวนให้ผมใคร่ครวญถึงหลายสิ่งหลายอย่างที่ตกค้างในความคิด

เคยคิดว่า โอกาสที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านการปกครองอย่างรุนแรงและเด็ดขาดมีน้อยมาก เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เกื้อหนุนให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางประนีประนอม จนถึงตอนนี้ ปัจจัยที่ว่าก็ชักจะเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ, แล้วการเปลี่ยนผ่านที่ว่า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง หรือก็แค่กลเกมชิงอำนาจของคนไม่กี่กลุ่มเช่นที่เคยเป็นมา

การเปลี่ยนแปลงน่าจะต้องเกิดขึ้น แต่ผมก็เริ่มไม่แน่ใจเรื่องเงื่อนไขเวลา รูปแบบการต่อสู้ และลักษณะการเปลี่ยนแปลง

และก้อนกรวดไม่กี่ก้อนที่บังเอิญมาเข้าตา ก็ทำให้ความไม่แน่ใจของผมเพิ่มมากขึ้นทุกที


วุฒินันท์ ชัยศรี
๒๐/๐๑/๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น