วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

แง่มุมชีวิตที่ชวนคิดจากคุณเฉลียว สุวรรณกิตติ

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากที่สุด (แม้จะยังทำได้ไม่ดีนัก) ในการรับเขียนงานสารคดีคือ การได้มีโอกาสเข้าพบและพูดคุยกับบุคคลสำคัญ ๆ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาร่วมกับนิสัยขี้อาย ไม่ค่อยกล้าคุยกับใครมากนัก บวกกับที่ไม่ค่อยจะเสาะแสวงหาโอกาสสุงสิงกับมนุษย์คนอื่นมากเท่าไหร่ของผม ทำให้การได้พูดคุยกับท่านทั้งหลายเหล่านี้เป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง

แน่นอนว่าประเด็นหลักในการพูดคุยก็ต้องอยู่ที่การสัมภาษณ์เพื่อนำไปเขียนงานเป็นส่วนใหญ่ แต่ทุกครั้งที่ได้พูดคุยกับท่านเหล่านั้นผมมักจะได้ "ของแถม" เป็นทัศนะหรือแง่คิดอันทรงคุณค่าที่จะหาจากที่ไหนไม่ได้ติดไม้ติดมือกลับมาเสมอ

สำหรับผมแล้ว ครึ่งชั่วโมงที่ได้คุยกับคนสำคัญมีค่ามากกว่านั่งอ่านสารานุกรมความรู้เป็นวัน ๆ หรือหลายสิบวัน โดยเฉพาะกับคนระดับ "Elite" อย่างคุณเฉลียว สุวรรณกิตติ รองประธานกรรมการบริษัททรู คอร์เปอเรชั่น แม้จะไม่ได้คุยนอกเรื่องมากนักเพราะเงื่อนไขเรื่องเวลาและการทำงาน แต่แน่นอน, บุคคลระดับนี้ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรก็นำมาเป็นแง่คิดแก่คนรุ่นหลังได้เสมอ แง่คิดหลัก ๆ ก็คงจะเป็นเรื่องแง่มุมทางธุรกิจ นโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐ ฯลฯ เรื่องเหล่านี้หาอ่านได้ที่คอลัมน์ของท่าน ผมคงจะไม่เอามาพูดมาก อยากได้มะพร้าวเนื้อแน่นหอมหวานคงต้องตามไปซื้อที่สวนเอง

ที่ผมอยากพูดถึงคือแง่มุมเล็ก ๆ ของชีวิตในบางประเด็นที่ผมฟังแล้วรู้สึกว่า เออ น่าคิดแฮะ!

(๑) เป็นผู้หญิงเรียนหนังสือมากก็ไม่ดี

เปิดฉากคำนี้มาก็ทำเอาชาวเฟมินิสต์เต้นผาง หาว่าความคิดโบราณ กีดกันสิทธิสตรี แต่จริง ๆ แล้วเป็นอารมณ์ขันของท่านที่ทำให้เห็นชีวิตในแง่มุมที่น่าสนใจไม่น้อย

ผู้หญิงเรียนหนังสือมาก ท่านว่าจะหาคู่ครองยาก

ไม่เกี่ยวว่าการเรียนสูงทำให้มีความรู้สูง เชื่อมั่นในตัวเองมาก ผู้ชายไม่ชอบอะไรทำนองนั้น

ท่านบอกว่า เรียนหนังสือสูง ๆ ก็ต้องใช้เวลามาก พอเรียนจบมาอายุได้สัก 25-30 ปี ผู้ชายที่อายุเท่ากับหรือมากกว่าเราที่เป็นคนดี ๆ ส่วนมากก็มักจะถูกผู้หญิงลักพาตัวไปแต่งงานหมดแล้ว

"ไอ้ที่เหลือรอดมาถึงมือเราเนี่ย มันต้องเป็นคนที่มีปัญหาแน่ ๆ"

ฮาตึง! ผมหัวเราะพลางนึกถึงเรื่องของคนใกล้ตัว

(๒) การสอนให้ "คิด"

ท่านว่าคนอินเดียเป็นคนช่างคิด ผมเห็นด้วย ไม่เช่นนั้นอินเดียคงไม่กลายเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของตะวันออก เป็นต้นกำเนิดของศาสนาหลายศาสนาที่ทรงอิทธิพลทั่วโลกแน่นอน

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ท่านได้อ่านหนังสือนิทานสอนเด็กของอินเดีย เรื่องมีอยู่ว่า ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง มีหนูขุดดินอยู่ที่โคนต้นไม้ กิ้งก่าเกาะต้นไม้อยู่ แมวป่าอาศัยในโพรง ส่วนนกทำรังอยู่บนต้นไม้

ถ้าเป็นคำถามของเด็กไทยคงจะถามประมาณว่า ต้นไม้ต้นนี้มีสัตว์อยู่กี่ชนิด ตัวอะไรเกาะอยู่บนยอดไม้ ตัวอะไรอยู่ในโพรง

แต่คำถามของเด็กอินเดียคือ "ทำไม"

ทำไมนกถึงทำรังอยู่บนยอดไม้ ทำไมแมวต้องอยู่ในโพรง

ผมนึกถึงระบบการศึกษาของเราที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเป็นล้านครั้ง ผมอยู่ในรุ่นที่เขาเปลี่ยนระบบเป็น Child Center ที่เด็กเรียกชื่อเล่น ๆ (แต่ดันสมจริง) ว่า ควาย เซ็นเตอร์

ไม่รู้กี่ล้านครั้งที่รัฐมนตรีศึกษาฯ ประกาศจะปฏิวัติระบบการสอนให้เด็ก "คิด" แทนการ "ท่องจำ" แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยเห็นเป็นรูปเป็นร่างเสียที เพราะเราเคยชินกับการท่องจำมากกว่า การปฏิรูปจึงเป็นเพียงเปลือก ในเมื่อเนื้อในเราก็ยังต้องท่องหนังสือไปเอ็นสะทร้านซ์ หรือแอดมิชชั่น หรืออะไรก็ไม่รู้ผมตามไม่ทันแล้ว

อย่าว่าแต่วัยมัธยมเลย แม้ในระดับมหาวิทยาลัยก็ยังคงท่องจำกันอยู่ หากท่องจำเรื่องที่เป็นประโยชน์ก็ดีไป เช่น ประวัติศาสตร์ที่จะมาเป็นรากฐานในการมองย้อนกลับไปเพื่อนำอดีตมาทำความเข้าใจปัจจุบัน

แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ผมได้คุยกับเด็กสาวคนหนึ่ง เธอบอกว่าข้อสอบของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ยังมีคำถามทำนองว่า ในวรรณคดีเรื่องนี้มีของวิเศษปรากฎกี่ชิ้น แต่ละชิ้นมีอานุภาพอะไรบ้าง

ฮาตึง! ผมเรียนวรรณคดีมาจนผมบางเส้นเริ่มหงอกยังตอบไม่ได้เลยครับพี่น้อง

วิธีเรียนแบบท่องจำของเราน่าจะได้รับมาจากการสืบทอดพระพุทธศาสนา เพราะสมัยก่อนต้องบวชเรียน การสืบทอดพระธรรมนั้นก็มาจากการสังคายนาพระธรรมของเหล่าสงฆ์ที่ใช้วิธีการท่องจำปากต่อปาก

แต่การท่องจำก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้ใดบรรลุมรรคผล, เท่าที่เคยอ่านประวัติพุทธสาวก/สาวิกา ไม่มีใครบรรลุเป็นพระอรหันต์โดยการท่องจำเลยแม้แต่รายเดียว (ถ้าจำผิดขออภัย,ท่านผู้รู้เติมได้) แม้แต่พระอานนท์ผู้จำคำสอนของพระศาสดาได้ทั้งหมด ก็ยังบรรลุเป็นพระอรหันต์เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว

การ "คิด" ต่างหากที่ทำให้บรรลุธรรม, ในประวัติพุทธสาวกที่มีการบันทึกไว้ พระพุทธเจ้ามักจะใช้วิธีการต่าง ๆ ให้เวไนยสัตว์เหล่านั้นได้ "คิด" จนนำไปสู่การบรรลุธรรม ไม่เคยให้ท่องจำหัวข้อธรรมะแต่อย่างใด

แน่ล่ะ ถ้าไม่มีฐานความรู้จากการท่องจำ ก็คงไม่สามารถคิดต่อยอดไปได้ แต่ผมคิดว่า "ฐาน" จริง ๆ ของความรู้น่าจะอยู่ที่ "ความคิด" มากกว่า

ใคร่ครวญสิ่งที่รู้มา, ขบคิดให้เข้าใจ, แล้วความจำจะตามมาเอง

อินเดียจึงเป็นสถานที่ชุมนุมนักปราชญ์ผู้กำเนิดศาสนาหลายศาสนาในโลกโดยมิได้นัดหมาย คงเพราะนิทานที่สอนเด็กให้ "คิด" เรื่องนั้นนั่นเอง

สองข้อนี้แหละครับคือแง่มุมชีวิตที่ชวนคิดจากคุณเฉลียว สุวรรณกิตติ ที่ผมอยากเก็บมาฝาก


วุฒินันท์ ชัยศรี
๒๐/๐๑/๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น