วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

จดหมายถึงนักเขียนหนุ่ม ฉบับที่ 4

(ขออภัยที่ทำให้การสนทนาของเราเกิดช่องว่างเป็นรูโหว่ไปเสียหลายวัน เนื่องมาจากความป่วยไข้ทางการเงิน และมิติเวลาแห่งความเร่งร้อน ทำให้ผมต้องรีบใช้จ่ายเวลาทั้งหมดเท่าที่มี รวมถึงสงกรานต์วัยหนุ่มเพื่อ "ปิดจ๊อบ" งานอันน่าเหนื่อยหน่ายชิ้นนึงลง พร้อมกับการเชียร์ทีมรักจนตัวโก่งให้คว้าทริปเปิ้ลแชมป์ ซึ่งจบลงด้วยความเศร้าเหมือนละครน้ำเน่าเล่นผิดคิว)

1. ความสุขจากการแสวงหา

บังเอิญจังที่วันนั้นผมเองก็ดูช่องนกน้อยสีส้ม แถมยังดูหนังเรื่องเดียวกับคุณเสียด้วย (ในห้วงเวลาเดียวกัน ช่องเจ็ดสีทีวีเพื่อคุณกำลังฉาย "วงศ์คำเหลา" คงไม่ต้องเดานะว่าเรตติ้งเรื่องไหนกระฉูดกว่า)

วิล สมิธ เหมาะกับบทดราม่า เพราะหน้าตาแกเหมือนคนมีบาดแผลอันแสนเศร้าในอดีต แถมดูท่าเหมือนคิดอะไรอยู่ตลอดเวลา ใครจะจับแกไปเล่นแอ็คชั่นเลือดสาด แกก็ยังทำหน้าตาให้คนดูคิดว่าตัวละครนี้ซ่อนความปวดร้าวบางสิ่งไว้ในใจ

Pursuit of happyness -ใครหนอเอามาแปลแบบไทย-ไทย เหลือเกินว่า ยิ้มไว้ก่อนพ่อสอนไว้- หนังดราม่าสู้ชีวิตสไตล์อเมริกันชนที่สู้ปากกัดตีนถีบจนประสบความสำเร็จ แบบไม่มีเทวดามาประทานแก้วเจ็ดประการตามสี่มุมเมืองเหมือนนิทานชาดก

"Happyness" -ถึงผมจะสอบ CU-เทพ ได้คะแนนแกรมม่าแค่ 6/30 แต่ก็รู้ว่ามันสะกดผิดตามหลักแกรมม่า - แต่เราก็ยังเข้าใจเหมือนกันว่า มันคือความสุข แม้มันอาจจะเป็นความสุขที่บิดเบี้ยวไปหน่อย - แต่ไม่ว่าอย่างไร มันก็คือความสุข กระนั้น ตัวละครคงไม่สุขด้วยกระมัง จึงต้องออกตามหา Happiness ของจริงไปตลอดเรื่อง

ขณะที่ดู ผมรู้สึกคลับคล้ายคลับคลา เหมือนโดนดูดเข้าไปในโฆษณาขายตรงสักแวบหนึ่งว่า ต้องมีเงินสิ คุณถึงจะมีความสุข อันเป็นเหตุผลที่พระเอกสมัครเป็นโบรกเกอร์ ต่อสู้ฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จ ได้พบกับ "Happiness" ตามแบบอเมริกันชน หรือภาษาขายตรงว่า "อิสรภาพทางการเงิน"

แต่ผมว่า Happyness ที่อยู่กับเขา -ลูกชายที่คอยให้กำลังใจ-เป็นแรงบันดาลใจ- ระหว่างทางเดินไปหา Happiness ต่างหากที่เป็นความสุขของเขา, เพียงแต่เขาไม่รู้ตัว, เพียงแต่เรื่องนี้มันดันจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เราก็เลยคิดว่าเขาได้พบความสุขในตอนจบ

การที่เรารู้ว่าวันนี้เราจะทำอะไร-เพื่อใคร ต่างหากที่เป็นความสุขที่หลบซ่อนอยู่ในหน้ากากของการดิ้นรน

คิดเล่น ๆ ว่า หากเขาล้มเหลว ไม่ได้เป็นโบรกเกอร์ชื่อดัง อย่างน้อยเขาก็คงมีความสุขเมื่อเหลียวมองข้างกายแล้วพบว่ายังมีใครคนหนึ่งที่คอยอยู่เคียงข้าง เป็นกำลังใจ เป็นแรงบันดาลใจให้เขาสู้ชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้

Pursuit ที่อยู่ข้างหน้า จึงสำคัญกว่า Happyness ที่อยู่ข้างหลัง เราอาจแสวงหาจนพบ Happiness (ในความหมายที่ถูกต้องของคนรอบข้าง) หรือพบ Happyness (ความสุขผิดเพี้ยน แต่ก็เป็นแบบของเราเอง)

ความสำคัญของมันอยู่ที่ว่า ระหว่างทางไปสู่ Happyness เราได้ Pursuit มันอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง

(นี่มันความคิดแบบอเมริกันชน ผู้ปรารถนาปลดแอกจากสหราชอาณาจักรและผืนดินยุโรปอันเกรียงไกรชัด ๆ)

2. ความสุขจากโศกนาฏกรรม

เช้าวันปิดจ๊อบ ผมบังเอิญได้ชมภาพยนตร์อีกเรื่อง-แต่ไม่รู้จะเรียกมันว่าภาพยนตร์ได้หรือเปล่านะ

"สาระแนห้าวเป้ง"

(ผมไม่รู้ว่าผมเข้าใจเรื่องถูกต้องหรือเปล่านะ เพราะผมไม่ได้ดูอย่างจริงจัง เปิดแวบ ๆ อาบน้ำบ้าง หมักครีมนวดผมบ้าง แปรงฟันบ้าง หุงข้าว-ทำกับข้าวพลางเงยหน้าดูเป็นระยะ ๆ - แต่ก็พอเข้าใจได้กระมัง เหมือนละครช่องเจ็ดที่สร้างมาเพื่อให้แม่ค้าได้ดูระหว่างขายของ แม้จะง่วนอยู่กับการดูของ จ่ายเงิน ทอนเงินเป็นสิบนาที แต่หันกลับมาดูอีกทีก็ต่อเรื่องติด เพราะเนื้อเรื่องไม่ไปไหนเลย)

แน่นอนว่าเรื่องหลักของมันคือการแอบแกล้งแอบอำดาราเอาฮา แต่เบื้องหลังของมันคือเรื่องราวโศกนาฏกรรมระยำตำบอนของเด็กฝึกงานสองคน ที่ซุกซ่อนอยู่แวบ ๆ แอบ ๆ อยู่หลังฉากการแกล้งอำดารานักแสดงให้อับอายเพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้ชาวประชา

สุดท้ายแกล้งหนักมือไปหน่อย ทำเอาพี่หม่ำผู้ร่ำรวยอารมณ์ขันเกิดขำไม่ออก นำมาสู่การยื่นคำขาดของทีมงานแก่เด็กฝึกงานทั้งสองว่า เลือกเอาละกันว่าใครจะอยู่ ใครจะลาออกแสดงความรับผิดชอบ

"ถ้ามันไม่อยู่ ผมก็ไม่อยู่"

สรุปว่าออกไปทั้งสองคนตามสไตล์กูไม่ทิ้งมึง เร้าหัวจิตหัวใจด้วยคำพูดดราม่าของเพื่อนตาย ผสมกับเพลงทำนองว่า เราจะไม่ทิ้งกัน ต่อสู้ชีวิตด้วยกัน ทำเอาคนดูหนังงงว่า ทำไมอารมณ์เรื่องมันเปลี่ยนเร็วจังวะ

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดอีกเมื่อรถจักรยานยนต์คู่ชีพถูกขโมย ไอ้หายไม่เท่าไหร่ แต่โจรดันทิ้งกลางทาง แล้วก็มีรถแบ็คโฮวิ่งมาเหยียบฉิบ (ใครคิดวะเนี่ย) มอเตอร์ไซค์เพื่อนยากก็เละสิครับ

ตกงาน มอ'ไซค์เละ โอ้... ความหวังและความฝันของเราทำไมมันถึงถูกบีบอัดด้วยภาวะโศกนาฏกรรมเยี่ยงนี้ แล้วขณะที่กำลังไหว้ผีเพื่อหาทางออกอยู่ดี ๆ ทีมงานสาระแนก็โผล่มา "อำกันเล่นน้าาาา"

ถ้าผมเป็นตัวละครเอก (ซึ่งกำลังซีเรียสกับชีวิต) ผมคงยันพี่เขาสักดอกแล้วบอกว่า "กูไม่ขำ!"

แต่ก็นั่นแหละ เพื่อให้เรื่องจบด้วยสุขนาฏกรรมแบบที่คนไทยชอบ (ทำนองเดียวกันกับที่ดัดแปลงตอนจบโศกนาฏกรรมของรามะ-สีดาในรามายณะที่ต้องพรากจากเพราะหน้าที่กษัตริย์ เป็นแฮปปี้เอนดิ้งแบบไทย-ไทย ให้พระรามกับนางสีดาได้ครองคู่) พระเอกของเราก็หัวเราะ กอดคอเพื่อนอย่างเบิกบานยินดีที่โศกนาฏกรรมที่มาซ้ำซัดเป็นเรื่องอำเล่น

โดยไม่ตั้งใจ ผมกลับคิดถึงอีกเรื่องซึ่งไม่เกี่ยวกันเลยคือ กระแสทำเสื้อเพื่อระดมทุนบริจาค

ไอ้ตอนแรกผมก็ไม่ตะขิดตะขวงใจอันใดดอก เพราะการลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยผู้เดือดร้อนย่อมเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญ ดีกว่าการนอนเกาพุงเล่นอยู่บ้านแบบไม่รู้ร้อนเหมือนผม

แต่วันดีคืนดี ผมก็เปิดไปเจอรายการหนึ่งที่ทำเสื้อสวยงาม สกรีนคำให้รำลึกถึงภัยพิบัติน้ำท่วมใต้ขายดิบขายดีหมดภายในไม่กี่ชั่วโมง ทำเอารายการอื่นที่ออกอากาศทีหลังทำตามอย่างจนเป็นแฟชั่นกลาย ๆ

เปิดสลับมาอีกช่องหนึ่ง ถ่ายทอดชีวิตของเด็กน้อยคนหนึ่งที่พ่อแม่ถูกพัดหายไปต่อหน้าต่อตา ตัวเองต้องว่ายน้ำเพื่อช่วยน้องคนเล็กที่เหลืออยู่เป็นคนสุดท้ายของครอบครัว

สองภาพที่มา contrast ชวนให้โรควิตกจริต ฟุ้งซ่าน มองโลกแง่ร้ายแบบไร้สาระ คิดมากไปเรื่อยเริ่มกำเริบ

เอาภาพของเสื้อระลึกถึงเหตุการณ์ มาปะไว้บนตัวน้องคนนั้น แล้วผมก็พบว่าเป็นภาพที่ไม่น่าดูนัก - หากเป็นผม ผมคงไม่อยากจะจดจำเหตุการณ์ที่พ่อแม่ถูกพัดหายไปต่อหน้าต่อตาสักเท่าไร หรือถ้าจะเก็บไว้ ผมก็คงเก็บไว้เป็นบทเรียน แต่คงไม่ใช่สกรีนไว้บนอกเสื้อ

เปล่า-ผมไม่ได้จะปรักปรำว่า คนที่ซื้อเสื้อเพื่อบริจาคเป็นคนใจร้ายโหดอำมหิตที่คอยตอกย้ำให้ผู้ประสบภัยระลึกถึงโศกนาฏกรรมตลอดเวลา

มันคงเป็นเรื่อง misplace หรือ misconcept อะไรสักอย่าง (ขออภัยที่ต้องใช้ภาษาปะกิด เพราะภาษาไทยกระท่อนกระแท่นเท่าที่ผมนึกออกว่า "ผิดที่ผิดทาง" กับ "เข้าใจผิด" มันสื่อความสิ่งที่ผมคิดออกมาไม่หมด ครั้นจะใช้คำว่า "ผิดกาละเทศะ" ก็รุนแรงเกินกว่าที่ผมอยากจะสื่อ เอาเป็นว่าระดับความหมายมันอยู่ใกล้เคียงกับผิดที่ผิดทางมากกว่าละกัน) ที่คนเกิดนิยมซื้อของที่ระลึกเพื่อเก็บไว้เป็นใบประกาศว่าเราได้บริจาคเงินแล้ว ก่อนจะสวมใส่อย่างภาคภูมิ

ขอให้เป็นความวิตกจริตเกินกว่าเหตุของผมคนเดียวเถิดว่าเรากำลังเสพติด "การบริจาค" -อาจจะเพื่อชดเชยอะไรบางอย่างในใจ ชดเชยความรู้สึกผิดที่ว่า เราดูดกลืนทรัพยากรของท้องถิ่นมาเพื่อบำรุงความสะดวกสบายมากเกินไปแล้ว, ชดเชยสำหรับการสร้างเขื่อน การวางท่อก๊าซที่ประท้วง ๆ กันอยู่ หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อให้ประเทศไทยมีกระแสไฟฟ้ามากพอที่เราจะเดินเล่นเย็นสบายในสยามพารากอน จนมันนำมาสู่วิกฤตการณ์ครั้งใหญ่นี้

การบริจาคจึงเป็นช่องทางบำบัดความป่วยไข้ในต่อมรู้สึกผิดของชนชั้นกลางอย่างเรา ๆ เพื่อลดทอนความซับซ้อนของกระบวนการรับผิดชอบร่วมกัน และเพื่อให้ความสบายใจเป็นเครื่องนำทางให้ชีวิตผ่านพ้นไปอีกวันดังที่เป็นมา

(ขออภัยหากผมไปสะกิดต่อมของท่านที่ตั้งใจบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยหัวใจอันแท้จริง น้ำใจของท่านประเสริฐน่าสรรเสริญอยู่แล้ว - ผมเพียงแต่ตั้งคำถามกับตรรกะของบางคนที่ซับซ้อนเกินกว่าที่ผมจะทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้)

การสกรีนเสื้อไว้เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรม สำหรับคนสวมใส่นอกพื้นที่แล้วคงเป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่สำหรับคนในพื้นที่ ผมไม่รู้ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรหากต้องใส่เสื้อที่สกรีนถึงเหตุการณ์ที่เขาต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต

คงจะเหมือนกับเรื่องราวในสาระแนห้าวเป้งที่เราหัวเราะให้กับชีวิตบัดซบของเด็กฝึกงาน โดยไม่ได้คิดว่า หากเราเป็นเด็กฝึกงานคนนั้น เราจะขำออกไหม

โศกนาฏกรรมเป็นเรื่องรื่นรมย์เสมอ ตราบเท่าที่เราไม่ได้แสดงเป็นตัวละครเอก


วุฒินันท์ ชัยศรี
18/04/2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น