วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2563

คนดี ความดี และพลเมืองดีในโลกวรรณกรรม

เรื่องสั้นชื่อ "พลเมืองดี" ปรากฏในบรรณพิภพของไทยอย่างน้อยก็ 3 เรื่อง เรื่องแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2490 คือเรื่อง "พลเมืองดี" ของดอกไม้สด กล่าวถึงพลเมืองดีที่ไปยุ่งไม่เข้าเรื่องกับการตกลงกันระหว่างเจ้าของวัวกับโจรเรียกค่าไถ่วัว ในปี 2514 ลาว คำหอม ได้เขียนถึงลุงชาวไร่ผู้เป็น "พลเมืองดี" ซึ่งจำใจต้องเลี้ยงดูปูเสื่อเจ้าหน้าที่รัฐ และแทบจะกราบกรานให้เขาทำตามหน้าที่ของตนเสียที ต่อมาในปี 2522 อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้เขียนถึงขอทานที่ตัดสินใจเป็น "พลเมืองดี" ช่วยจับโจรกระชากสร้อย แต่โจรคนนั้นกลับเป็นลูกชายของแม่ค้าข้าวแกงซึ่งแบ่งข้าวแดงแกงร้อนแก่ขอทานเสมอ

คนดี ความดี และพลเมืองดี สามคำที่ควรจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในโลกของวรรณกรรมกลับแยกขาดจากกันอย่างน่ากังขา สะท้อนให้เห็นความบิดเบี้ยวบางประการในสังคม นอกจากนี้ ตัวละครในนามของ "พลเมืองดี" มักจะอยู่ในรูปของคำถาม มิใช่คำตอบ

ผ่านมาสี่สิบปี ข้าพเจ้าได้เขียนเรื่องสั้นชื่อเดียวกันขึ้นมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้ต้องการให้เกิดคำถาม ทว่าเป็นการเสนอคำตอบให้แก่ผู้อ่านว่าการเป็นพลเมืองดีในทัศนะของข้าพเจ้าควรจะเป็นอย่างไร

ข้าพเจ้าขอยกบางถ้อยคำในเรื่องสั้นของข้าพเจ้ามาให้ท่านฟังดังนี้

"เราเป็นฟันเฟืองของสังคมก็จริง แต่ฟันเฟืองกระจ้อยร่อยอย่างเรา ๆ ควรสำเหนียกว่าหากไปขัดแข้งขัดขาฟันเฟืองใหญ่ให้ติดขัด นอกจากตัวเราเองจะพังพินาศแล้ว ฟันเฟืองกระจิ๋วหลิวที่อยู่ข้างล่างเราก็คงเละเทะไม่เป็นท่า

"สังคมของเราก็แบบนี้ 'พลเมืองดี' อย่างพวกเราแม้จะเห็นบางสิ่งที่ผุพัง แต่ควรรู้ว่าอะไรที่ถอดรื้อทิ้งได้ อะไรที่ควรปล่อยไว้อย่างนั้นเพื่อให้ชีวิตของเรายังปกติสุข"

ฟังดูแล้ว "พลเมืองดี" ในเรื่องเล่าของข้าพเจ้าช่างเป็นคนน่าสงสาร ต้องทุกข์ทนอยู่ในสังคมแสนโหดร้ายและน่าเวทนา แต่ก็น่ายินดีว่า ทั้งหมดเป็นแค่สังคมในจินตนาการของข้าพเจ้าเท่านั้น มิใช่สังคมที่เราอาศัยอยู่ในตอนนี้-สังคมที่พวกเรารู้แจ้งแก่ใจดีว่ายึดถือความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะรวยหรือจน มีอำนาจล้นฟ้าเพียงใด เมื่อทำความผิดภายใต้กฎหมายเดียวกันก็ต้องรับโทษเหมือนกันอย่างเท่าเทียม

นักเขียนท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า Artists use lies to tell the truth, while politicians use them to cover the truth up. ข้าพเจ้าหวังว่า เรื่องเล่าของข้าพเจ้าในโลกที่สมมติขึ้น จะเป็นเพียงเรื่องโกหก ไม่มีความจริงซุกซ่อนอยู่แม้แต่บรรทัดเดียว

เพราะหากคำโกหกของข้าพเจ้าเกิดขึ้นจริงในสังคมใดสังคมหนึ่งแม้เพียงส่วนเสี้ยว สังคมนั้นนับว่าเป็นสังคมที่น่าเศร้าและสิ้นหวังเหลือเกิน

(คำกล่าวว่าด้วยแรงบันดาลใจของเรื่องสั้น "พลเมืองดี" รางวัลรองชนะเลิศพานแว่นฟ้า 2563)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น