วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2564

การสอนเขียนออนไลน์

(1.)
ปัญหาหนึ่งที่พบในการสอนวิชาการเขียนแบบออนไลน์ก็คือ การคอมเมนต์งาน
เบามือเกินไป เด็กก็ไม่ได้อะไร
แต่ถ้าหนักมือเกินไป เด็กก็เสียกำลังใจในการเขียน (เรายังจำได้ในผลประเมินอาจารย์ปีแรก ๆ คอมเมนต์หนึ่งบอกว่า หนูเคยคิดว่าหนูเขียนหนังสือได้ จนกระทั่งเจอคอมเมนต์อาจารย์ หนูท้อจนอยากจะเลิกเขียนเลย โอ้ยตายลูก...)
ทั้งที่ย้ำเสมอว่าผมก็แค่คนคนหนึ่ง ความเห็นของผมไม่ใช่คำตัดสิน อนาคตคุณอาจเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ของโลกก็ได้ นักเขียนดัง ๆ มากมายหลายคนก็ไม่ได้เกิดมาเทพเลย แต่ขัดเกลาตัวเองผ่านคอมเมนต์ทั้งนั้น
แต่คนเสียกำลังใจไปแล้วก็นะ...
ยุคหลังเลยเบามือลง เคลือบน้ำตาลให้ทานง่ายขึ้นมาหน่อย แต่ก็มิวายมีคนใจเสียแทบทุกปี (แฮ่ ๆ)

(2.)
วิชาการเขียน เป็นวิชาบังคับของหลักสูตร แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะเขียนเชิงครีเอทีฟได้ อันนี้เราก็เข้าใจ และพยายามไม่รีดเค้นจากเด็กจนเกินสมควรถ้าเห็นแววว่าเขาไม่ได้มุ่งมั่นจะเดินมาทางสายนี้ (เพราะที่จริงงานสายนี้ก็ไม่ได้มีมากมาย และหลายงานก็ไม่ได้ทำให้ร่ำรวย)
ปกติแล้วถ้าเป็นการคอมเมนต์แบบต่อหน้า เรายังพอมองเห็นสีหน้า แววตาของเด็ก ลองหย่อนระเบิดลงไปสักลูกแล้วดูปฏิกิริยา ถ้าเด็กหน้าไม่เปลี่ยนสี มุ่งมั่นจะเขียนให้ดีขึ้น ก็แจงแจงคอมเมนต์ทั้งหมดที่มองเห็น (เด็กกลุ่มนี้มักจะเขียนงานดีเป็นพื้นอยู่แล้ว) ถ้าเด็กหน้าเสีย ก็เบามือลง แตะเฉพาะจุดสำคัญ เหยาะคำชมให้กำลังใจลงไปสักหน่อย อย่าเพิ่งท้อนะตัวเธอว์ ถ้าเป็นเด็กประเภทรับได้เฉพาะคำชม ก็มอบกระเช้าของขวัญพร้อมดอกไม้ช่อใหญ่ ๆ ให้เลิศลอย แอบซ่อนจุดที่อยากแก้ไขด้วยคำว่า งานคุณดีมากเลย ถ้าปรับตรงนี้ได้ก็จะดีขึ้นกว่าเดิมอีก อะไรทำนองนี้
แต่พอเป็นออนไลน์ โดยเฉพาะกับเด็กกลุ่มนี้ที่ไม่เคยสอนเลย (ปกติจะได้สอนเด็กนอกหลักสูตรตัวเองตอนปี 1 บางวิชา แต่เทอมนั้นไปทำงานที่จีนพอดี) ไม่เคยเห็นหน้า ไม่รู้ว่าเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร ความมั่นใจในตัวเองมากน้อยแค่ไหน อยากจะเรียนรู้จากเรามากน้อยเพียงใด หรือแค่อยากได้เกรดจากเรา
ไม่รู้อะไรสักอย่าง...
ก็เลยคอมเมนต์งานไปแบบกว้าง ๆ กลาง ๆ แต่ผลก็คือ เด็กก็แก้มาเท่าที่เราคอมเมนต์ไปแบบกว้าง ๆ กลาง ๆ นั่นแหละ บางการแก้ไขก็ชวนให้ "สูน" เช่นว่า สามย่อหน้านี้เนื้อความเดียวกันหมดเลยนะครับ ลองปรับให้เป็นย่อหน้าเดียวไหม การแก้กลับมาก็คือ ตีบรรทัดของทั้งสามย่อหน้าไปรวมกัน นี่ไง กลายเป็นย่อหน้าเดียว (แบบยาว ๆ) แล้ว อันนี้ไม่รู้เด็กกวงติงหรือไม่เข้าใจเรื่องย่อหน้าจริง ๆ แต่คิดว่าเป็นอย่างหลัง ก็มาเขียนอธิบายและแก้ไขกันไปตามสภาพพพพพ (ออกเสียงแบบ พส)
แก้กลับไปกลับมาสามสี่รอบ ออดอ้อนว่า หนูแก้เยอะขนาดนี้ต้องให้ A แล้วล่ะ ได้แต่หัวเราะ รับปากไม่ได้...

(3.)
วิชาฝึกฝนทักษะการเขียนแบบนี้ คงจำเป็นต้องได้พบเจอพูดคุยกันจริง ๆ ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เราให้กับเด็กได้คงลดน้อยถอยลงจนแทบไม่ได้อะไรเลย ได้แต่หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าเราคงจะได้เจอกับเด็ก ๆ ในเร็ววันนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น