วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ปนัดดา/น้ำตา/หน้ากากเต่า


มีไม่กี่คนที่รู้ว่าผมเป็นแฟนบอยของปนัดดา เรืองวุฒิ หนึ่งในนั้นก็คือคุณแฟนเก่าที่บังเอิญเห็นเพลงเกือบทุกอัลบั้มของปนัดดาบรรจุอยู่ในเครื่องเล่นเพลง พอเธอรู้ความจริงนี้แล้วถึงกับเอามือทาบอกอุทานว่า "ผู้ชายที่ชอบฟังเพลงปนัดดามักจะเป็นเกย์ กอล์ฟเป็น..ใช่ไหม?" (ตรรกะอะร้าย?) แม้ว่าจะตามเก็บเพลงของเธอไว้เธอแทบทุกอัลบั้ม แต่ที่ฟังแบบเอาจริงเอาจัง (ซื้อเทปฟัง) ก็ถึงแค่อัลบั้ม "บานไม่รู้โรย" และหลังจากนั้นก็แค่ตามข่าวอยู่ห่าง ๆ ยิ่งช่วงหลังที่ค่ายเพลงทำให้เธอกลายเป็นตัวแทนเพลงเมียน้อย (สู้กับเพลงเมียหลวงของปาน ธนพร) ก็ไม่ได้ตามอีกเลย

พอได้ยินจากในเฟซบุ้คว่าเธอคือหน้ากากเต่าในรายการเดอะแมสก์ซิงเกอร์ ซีซั่น 2 คนที่ไม่มีทีวีในห้องและไม่ติดตามรายการโทรทัศน์ใด ๆ อย่างผมเลยต้องไปหารายการย้อนหลังมาฟังด้วยความคิดถึง พอได้ฟังแล้วเรื่องราวเก่า ๆ สมัยเป็นแฟนบอยก็ลอยมาตามน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอ

อาจจะนับว่าเป็นโชคดีก็ได้ที่ผมเริ่มต้นฟังเพลงของปนัดดาจริง ๆ จัง ๆ ในอัลบั้มที่ 2 "ดอกไม้ในหัวใจ" ซึ่งตอนนั้นพัฒนาการในการร้องเพลง เนื้อหาของเพลง จังหวะดนตรี การวางลำดับแทร็กมันเป๊ะปังมาก ๆ ทำให้ผมตกหลุมรักเธอไปเต็มหัวใจและเป็นแฟนบอยเธอมานับแต่นั้น พอมาฟังอีกทีตอนโตแล้วก็รู้เลยว่าทีมงานตั้งใจทำอัลบั้มนี้จริง ๆ ฟังทุกเพลงจนจบอัลบั้มจะอิ่มเอมเหมือนได้อ่านนิยายรักดี ๆ สักเล่มหนึ่ง (สมัยก่อนฟังจากเทป กดข้ามเพลงไม่ได้ 55)

ย้อนกลับไปที่อัลบั้มแรก "ดาวกระดาษ" เพลงที่ทำให้ทุกคนรู้จักเธอ ตอนนั้นผมยัง 10 ขวบเล่นโดดยางกับเพื่อนอยู่เลยจึงไม่ได้ทำความรู้จักเธอมากนัก แต่ถึงได้ฟังตอนนั้นก็อาจจะแค่ชอบ ยังไม่ถึงกับตกหลุมรัก แน่นอนว่าเสียงเธอสวย แต่ลูกเล่นอะไรต่าง ๆ ยังไม่ปล่อยออกมามากนัก ภาพรวมของอัลบั้มแรกก็ยังไม่อิ่มเอมเท่าอัลบั้มต่อมา เหมือนว่าตัวเธอเองหรือค่ายเพลงก็ยังคลำทางกันอยู่ว่าจะผลักดันเธอออกมาแนวไหน

อัลบั้มที่ดูเหมือนจะคลำทางถูกคือไดอารี่เล่มแดง 1-4 ที่เอาเพลงเก่า ๆ มาให้เธอร้องคัฟเวอร์ (ซึ่งวิธีการเดียวกันนี้ไปเป๊ะปังสุด ๆ ในอัลบั้ม Replay the Memories อีก 3 ปีต่อมา) ฟังแล้วก็เริ่มเห็นทิศทางและลีลาลูกเล่นในเสียงหวานเศร้าของเธอมากขึ้น เธอและค่ายเหมือนจะเริ่มรู้แล้วว่าจะเล่นกับเสียงของเธอได้มากน้อยแค่ไหนก่อนจะไปลงตัวในอัลบั้มต่อมา รวมทั้ง "เขียนฟ้าด้วยปากกาดาว" และ "บานไม่รู้โรย"

แต่โปรเจคท์ที่ดึงศักยภาพเสียงของเธอออกมาถึงขีดสุดก็คือการไปร่วมงานกับ Grammy Gold ในโปรเจคท์ที่นำเพลงสุนทราภรณ์มาขับร้องใหม่ เธอได้ร่วมประชันกับนักร้องหญิงระดับดาวค้างฟ้าอย่าง อรวี สัจจานนท์ นันทิดา แก้วบัวสาย ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ และสู้กับนักร้องรุ่นพี่ ๆ ได้ไม่น้อยหน้าเลยในเพลงที่ต้องร้องร่วมกันหรือร้องประสานกัน ยิ่งโดยเฉพาะในชุดอัลบั้มเดี่ยวของแต่ละคน (ของปนัดดาคือชุดที่ 8) จึงไม่เกินเลยที่กรรมการคนหนึ่งบอกว่าศักยภาพเสียงของเธออยู่ในระดับ Go Inter ได้สบาย ๆ ไม่เชื่อลองไปหา "คนจะรักกัน" "ยังจำได้ไหม" "ฝันถึงกันบ้างนะ" ฯลฯ มาฟังแล้วจะเห็นว่าลูกเล่นของเสียงเธอมีเยอะแค่ไหน

ถึงจุดหนึ่งที่เพลงแนวเมียน้อยเพลงหนึ่งดังขึ้นมา ก็มีคน (ไม่รู้ใคร) พยายามจะดันเธอให้ร้องเพลงไปทางนั้นอย่างเต็มที่จนกลายเป็นไอดอลเมียน้อยแข่งกับไอดอลเมียหลวงอย่างปาน ธนพร พอมีเรื่องนี้ก็ทำให้ผมไม่ค่อยได้ติดตามผลงานเธอในช่วงหลัง ๆ แต่ไม่รู้เพราะสาเหตุนี้รึเปล่าที่ทำให้ชื่อของเธอเงียบ ๆ ไป หรืออาจจะเป็นเพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเพลงจากเทปซีดีเป็นดิจิทัลโหลดเต็มรูปแบบ หรืออาจเป็นเพราะการเกิดขึ้นของนักร้องหน้าใหม่จำนวนมหาศาลจากรายการประกวดร้องเพลงต่าง ๆ ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ชื่อของปนัดดาก็ค่อย ๆ เงียบหายไปจากความรับรู้ของผมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การเลือกปลอมตัวในฐานะหน้ากากเต่า พอดูจากการดีไซน์หน้ากาก ผมนึกถึงท่านผู้เฒ่าเต่าจากเรื่องดราก้อนบอล ไม่รู้ว่าเป็นความจงใจของเธอเองหรือเปล่า (เห็นในไอจีก็พูดศัพท์ที่มาจากเรื่องดราก้อนบอล) แต่ถ้าเป็นความตั้งใจของเธอ หน้ากากเต่าก็คงมีความหมายพิเศษบางอย่าง เพราะหากใครติดตามเรื่องดราก้อนบอลมาตั้งแต่ตอนแรก ผู้เฒ่าเต่าก็คือสุดยอดจอมยุทธที่เก่งที่สุดในโลก (ในขณะนั้น) และการประลองชิงเจ้ายุทธจักรครั้งแรกในการ์ตูน ผู้เฒ่าเต่าก็คือคนที่พิชิตรางวัลชนะเลิศได้ (กว่าโงคูพระเอกของเรื่องจะชนะเลิศก็ต้องรอจนครั้งที่สาม) ก่อนที่คนเขียนจะขยายสเกลของเรื่องออกไปยืดยาวจนสู้กันจักรวาลระเบิด ฯลฯ และลืมเลือนบทของผู้เฒ่าเต่าไปเกือบจะสิ้นเชิง

การเลือกปรากฎตัวในฐานะผู้เฒ่าเต่าของปนัดดา ก็คล้ายกับผู้เฒ่าเต่าที่อยากจะบอกให้โลกรู้ว่า แม้ว่าทุกคนแทบจะลืมเลือนไปแล้ว แต่ครั้งหนึ่งคนคนนี้ก็เคยเป็นคนเก่งที่สุดในโลก คนคนนี้คือเจ้ายุทธจักรมาตั้งแต่ก่อนที่ดาวเด่นคนอื่นในเรื่องจะมีบทบาทขึ้นมา และฝีมือของคนคนนี้ยังเป็นของแท้และดั้งเดิม

หากวัดกันที่ฝีมือและน้ำเสียง ปนัดดา เรืองวุฒิ ก็เป็นนักร้องมืออาชีพที่มีศักยภาพไม่น้อยหน้าใครเลยในประเทศนี้ แต่การอยู่ในวงการนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ดวงดาวจำรัสแสงหรือวูบดับลง น้ำตาและเสียงสะอื้นตอนท้ายรายการคงจะมีความหมายหลายอย่างที่อัดอั้นภายในใจ ไม่ว่าน้ำตาของเธอจะหลั่งออกมาเพราะความตื้นตันใจที่คนยังไม่ลืม หรือความน้อยใจลึก ๆ ที่ถูกประเมินค่าต่ำกว่าฝีมือที่มีมาโดยตลอด แต่เสียงของปนัดดาในวันนี้ยังคงเป็นเสียงเปี่ยมคุณภาพไม่เคยเปลี่ยนแปลง

และเสียงของเธอยังทำให้ผมมีความสุขได้เสมอ

-----------------
ภาคผนวก: TOP 10 of my Fav Panadda's Songs
1. คนแปลกหน้า (อัลบั้ม ดอกไม้ในหัวใจ)
2. หยดเดียว (อัลบั้ม ดาวกระดาษ)
3. ดีพอหรือเปล่า (อัลบั้ม ดอกไม้ในหัวใจ)
4. Short But Sweet (อัลบั้ม บานไม่รู้โรย)
5. แสงดาวกับดอกไม้ไฟ (อัลบั้ม เขียนฟ้าด้วยปากกาดาว)
6. ฝากใจฝัน (อัลบั้ม แกรมมี่โกลด์ซีรีส์ สุนทราภรณ์ 12)
7. ต้นไม้ไม่โตในวันเดียว (อัลบั้ม ดอกไม้กับเปลวไฟ)
8. แค่มีเธอ (เพลงประกอบละคร ชีวิตเพื่อฆ่า หัวใจเพื่อเธอ)
9. ปาฏิหาริย์ (อัลบั้ม Replay the Memories)
10. ไดอารี่สีแดง (อัลบั้ม ไดอารี่เล่มแดง 3)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น