วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ศักดิ์ศรีในวิชาชีพ

สองสามวันมานี้ผมได้ฟังเรื่องขำขื่นมาจากเพื่อนอาจารย์มหาวิทยาลัยในเมืองหลวงท่านหนึ่ง (ขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อเพื่อนและชื่อมหาวิทยาลัย เพราะเพื่อนผมเกรงว่าจะมีผลกระทบกับเด็กในอนาคต)

เรื่องราวเริ่มต้นอย่างชื่นมื่น เมื่อลูกศิษย์ระดับปริญญาตรีคนหนึ่งของเพื่อนผมทำงานวิจัยได้ในระดับดีมาก จนได้เป็นตัวแทนนำเสนอบทความในระดับนานาชาติ และเรื่องราวก็ควรจะจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้งตรงที่ลูกศิษย์คนนั้นจะได้ไปนำเสนอผลงาน ทางมหาวิทยาลัยก็ได้หน้าได้ตา อาจารย์ที่ปรึกษาก็ได้รับเกียรติในฐานะคนที่ร่วมต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคการวิจัยมาพร้อมกับนักศึกษาจนงานสำเร็จด้วยดี

แต่ก็เป็นเรื่องขึ้น เมื่อมีอาจารย์อีกคนหนึ่งกระหายอยากได้รับเกียรติของอาจารย์ที่ปรึกษากับเค้าด้วย เข้าใจว่าคน ๆ นี้คงเติบโตมาโดยไม่เคยมีใครสั่งสอนว่า ถ้าอยากได้รับเกียรติ ต้องให้เกียรติผู้อื่นก่อน มิใช่ฉกฉวยเอามาอย่างน่าละอาย

ด้วยเส้นสาย อำนาจ ความสนิทสนม หรืออะไรก็แล้วแต่ อาจารย์คนนั้นมีคำสั่งผ่านการประชุมงุบงิบของผู้บริหารว่า ขอใส่ชื่อเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเด็กด้วย

บางทีเรื่องนี้อาจจบลงง่าย ๆ และเงียบ ๆ ถ้าเพื่อนของผมเป็นคนประเภทว่า "แจ๋วครับพี่ ดีครับท่าน ทันครับผม เหมาะสมครับเจ้านาย" ก้มโค้งคารวะ เค้าสั่งบ้าบออะไรมาก็ยอมรับหมดเพราะกลัวผู้ใหญ่จะกลั่นแกล้งไม่ให้ก้าวหน้า

แต่เผอิญเพื่อนผมรักศักดิ์ศรีในวิชาชีพมากกว่าความก้าวหน้าจากเส้นสาย

มันไม่ใช่เรื่องของการกันท่า ไม่ใช่เรื่องของการหวงเด็กไว้เป็นผลงานของตัวเองคนเดียว แต่เป็นเรื่องจริยธรรมทางวิชาการ เป็นเรื่องของการให้เกียรติคนทำงาน เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่อย่างเราพร่ำสอนเด็กนั่นแหละ ซึ่งถ้าไม่ทำให้เป็นตัวอย่าง จะมาท่องตำราให้เด็กฟังอย่างไร เขาก็คงไม่เชื่ออีกต่อไป

แน่ล่ะ ในสายตาใครบางคน อาจารย์มหาวิทยาลัยก็เป็นเพียงกรรมกรวิชาการ แต่อย่างน้อยพวกเราก็ไม่ใช่ทาสในเรือนเบี้ย เรื่องอะไรจะให้ใครบางคนที่ไม่ได้ลงทุนลงแรง ไม่ได้ฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันกับเด็กมาแทรกชื่ออยู่ตรงนั้น คนที่เคยเรียนหรือทำงานอย่างพวกเรารู้ดีว่า ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาอาจเป็นเพียงบรรทัดสั้น ๆ แต่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตาของความเป็นครูอยู่เป็นแรมปี

แต่ก็อย่างที่พอจะคาดเดากันได้ เรื่องนี้ไม่ใช่นิทานคุณธรรมที่ตัวเอกต้องชนะและตัวร้ายรับผลกรรม แต่คือหนังชีวิตที่คนดี ๆ คนหนึ่งต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ไม่รู้ว่าจะมีอำนาจมืดมากลั่นแกล้งหรือไม่ในอนาคต ขณะที่คนที่พอจะช่วยเหลือได้ก็ได้แต่รับเรื่องมาแล้วหลบลี้หนีหน้า คงเพราะกลัวว่าการลุกขึ้นต่อสู้ด้วยความกล้าหาญและจริยธรรมจะทำให้ความก้าวหน้าในตำแหน่งของตัวเองหยุดชะงักลง

ไม่ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ผมกับเพื่อนคนนั้นก็เห็นตรงกันว่าต้องไม่ให้เด็กเสียประโยชน์ ถึงผู้ใหญ่จะตีกันด้วยเหตุผลงี่เง่าแค่ไหน ที่สุดแล้วเด็กต้องได้นำเสนอผลงานตามความสามารถของเด็ก ส่วนใครจะมาคอยขอส่วนบุญจากงานของเด็กหรือไม่ ด้วยเงื่อนไขแบบใด ก็คงขึ้นอยู่กับจิตสำนึกขององค์กรนั้น ๆ ว่าจะยอมให้เกิดขึ้นหรือเปล่า

ส่วนคนที่เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ข้างนอกอย่างผม ก็คงได้แต่ให้กำลังใจเพื่อนคนนั้น และเขียนถึงเรื่องนี้เพื่อบันทึกไว้ว่านี่คือเหตุการณ์อัปยศที่สุดครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย

และสำหรับผู้บริหารทุกคนที่มีส่วนให้คำสั่งพรรค์นี้หลุดออกมาจากห้องประชุมได้ ผมคงจะไม่ทวงถามถึงคำว่าธรรมาภิบาล จริยธรรมทางวิชาการ หรือแม้แต่คำง่ายๆ อย่างจิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ เพราะท่านผู้สูงส่งทั้งหลายคงมีข้อแก้ต่างในใจให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดอยู่แล้ว เป็นต้นว่า มันเป็นวัฒนธรรมองค์กร มันเป็นธรรมเนียมของสังคมไทย หรือผู้มีอำนาจสั่งมาจะให้ทำอย่างไร ฯลฯ

ผมเพียงอยากให้ท่านนึกภาพตัวเองยืนอยู่หน้าชั้นเรียน ในฐานะครูคนหนึ่ง เมื่อท่านพ่นคำสวยงามอย่างคำว่าคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ออกจากปากให้ลูกศิษย์ฟัง

ท่านรู้สึกละอายใจบ้างหรือไม่

...ไม่ต้องตอบหรอกครับ ผมไม่แน่ใจว่าอยากฟัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น